ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share
อ่านวันนี้ในอดีตได้ที่ สนุก! ความรู้

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

มายาคติว่าด้วยจีดีพี

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11512 มติชนรายวัน


มายาคติว่าด้วยจีดีพี


คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




เมื่อ ประมาณเดือนที่แล้วได้มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลมาเยือนประเทศไทย และได้มาชี้ให้เห็นว่า จีดีพี หรือที่เรารู้จักกันดีในฐานะเครื่องวัดสถานภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาจากคำว่า Gross Domestic Product (GDP) หรือคำว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ไม่ใช่เครื่องชี้วัดที่ดีของความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

เรื่องที่ โจเซฟ สติกลิตซ์ พูดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นายสติกลิตซ์ได้เปรียบตรงที่ว่า เป็น "คนใน" คือเคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ฉะนั้น หากนายสติกลิตซ์โจมตีอะไรที่เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ก็น่าที่จะเป็นที่น่า เชื่อถือได้มากกว่าการโจมตีของนักสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่เป็น "คนนอก"

อีก ทั้งนายสติกลิตซ์ยังสามารถยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การที่ประเทศสร้างคุกมากขึ้นทำให้ตัวเลขจีดีพีสูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความประเทศอยู่ดีมีสุขขึ้น อาจเป็นเพราะสังคมมีอาชญากรรมมากขึ้น

ปัญหาของจีดีพีที่ไม่สามารถวัด ความอยู่ดีมีสุขเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์รู้ซึ้งมานานแล้ว เพราะจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเป็นการวัดมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น ในประเทศ ไม่ว่าผู้ผลิตจะเป็นไทยหรือเทศ และไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้บริโภคผลผลิตนั้น ซึ่งในแง่ของสวัสดิการผู้ผลิตอาจจะเป็นบริษัททีมชาติที่ขอยืมฐานผลิตใน ประเทศไทย แล้วส่งรายได้ที่ได้จากการผลิตกลับไปประเทศของตน ตัววัดที่ดีกว่าน่าจะเป็นรายได้ประชาชาติ หรือ National Income ซึ่งหักเอารายได้ที่ได้ส่งไปยังประเทศอื่นๆ ออกแล้ว

ถึงกระนั้นจีดีพีก็ยังมีปัญหาอยู่อีกมากโดยเฉพาะสำหรับนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพราะสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1) จีดีพีละเลยเกี่ยวกับการขาดแคลนและความร่อยหรอลงของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อความยั่งยืนของการพัฒนา ประเทศที่เร่งรัดเอาทรัพยากรมาใช้อย่างหักโหมอาจมีจีดีพีที่สูง ทั้งๆ ที่ได้ใช้ทรัพยากรเกินกว่ากำลังผลิตตามธรรมชาติทำให้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ เหลือไปถึงลูกหลาน

2) จีดีพีไม่คำนึงถึงการเสื่อมของสภาพแวดล้อม ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพอนามัยและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เช่น ปัญหาหมอกควันมลพิษอาจเป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็ง

และ 3) แทนที่การบำบัดน้ำเสียของรัฐจะถูกหักออกจากจีดีพี การก่อสร้างสถานบำบัดน้ำเสีย และการดำเนินการกลายเป็นตัวเลขที่นำไปบวกกับจีดีพี ทั้งๆ ที่รายจ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันมิให้คุณภาพชีวิตเลวลง

นัก เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้พยายามแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาตลอดเวลา แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนกระแสความคิดใหม่กระตุ้นให้เกิดความคิดว่า การจัดทำบัญชีรายได้ประชาชาติ (หรือการคิดจีดีพี) ที่ถูกต้อง สมควรที่จะคำนึงถึงความร่อยหรอของทุนทรัพยากรธรรมชาติและความเสื่อมโทรมสิ่ง แวดล้อมด้วย ซึ่งสหประชาชาติได้ให้การสนับสนุน ในขณะนี้ความก้าวหน้าถึงขั้นสร้างกรอบความคิดใหม่ เรียกว่า SEEA (System for Integrated Environment and Economic Accounting) แต่ทั้งนี้การทำบัญชีรายได้ประชาชาติเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศว่าจะ ดำเนินการอย่างไร

ในกลุ่มประเทศตะวันตกมีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ฝรั่งเศส ได้ริเริ่มจัดทำบัญชีประชาชาติที่คำนึงถึงความสึกหรอของสิ่งแวดล้อมควบคู่ไป กับการคิดจีดีพีแบบดั้งเดิม

ในแถบประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็มีความก้าวหน้าไประดับหนึ่งแล้วเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น

กระบวนการนี้ได้ดำเนินการมากว่าทศวรรษแล้ว แต่ก็ยังไม่มีระบบที่เป็นสากล และได้รับการยอมรับเข้ามาแทนจีดีพีได้

จุด อ่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับจีดีพีและรายได้ประชาชาติ ก็คือทั้งคู่เป็นค่าเฉลี่ย ประเทศที่มีแต่คนจนมากๆ กับคนรวยมากๆ อาจมีจีดีพีใกล้เคียงประเทศที่มีคนที่มีรายได้ไม่แตกต่างกันนัก เพราะค่าเฉลี่ยใกล้กัน ประเทศหลังที่ประชากรที่มีรายได้ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกันมากกว่าน่าจะเป็น ประเทศที่น่าอยู่มากกว่า

จีดีพีที่เห็นจึงอาจเป็นเพียงภาพมายา ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงหาวิธีแก้ปัญหานี้โดยใช้ดัชนีการกระจายรายได้ เช่น ดัชนีจินี และต่อมาก็ได้หาดัชนีความยากจน ซึ่งโดยทั่วไปก็จะใช้จำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เส้นความยากจนนี้เป็นรายได้ต่ำสุดซึ่งประชากรในประเทศนั้น วัดจากการบริโภคขั้นต่ำสุดที่จะประคองชีวิตอยู่ได้ เส้นแห่งความยากจนนี้จะแตกต่างกันไปตามประเทศและตามวัฒนธรรม

ข้อดีของเส้นความยากจน ก็คือสนใจกับคนชายขอบและคนตกขอบ ไม่ดูค่าเฉลี่ย แต่ดูจำนวนคนที่มีรายได้ต่ำกว่ารายได้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้

นอก จากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังพยายามที่จะแก้ไขจุดอ่อนอื่นๆ ของจีดีพี เช่น การไม่รวมเอาการทำงานของแม่บ้าน ฯลฯ ทำให้เกิดดัชนีใหม่ๆ ขึ้นมากมาย

แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นที่ยอมรับเท่าจีดีพี เพราะเป็นตัวชี้วัดที่มีการเก็บข้อมูลเป็นระบบที่สุด

สติ กลิตซ์เสนอว่า ถ้าอยากได้ดัชนีอยู่ดีมีสุขก็ให้คิดดูว่าอะไรเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับชีวิต คนไทย แล้วหาตัวชี้วัดนั้นๆ มาเพิ่มเติม เช่น ถ้าคิดว่าความยุติธรรมสำคัญก็ควานหาตัวชี้วัดที่เป็นตัวแทนความยุติธรรม ถ้าการไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวงสำคัญก็หาตัวชี้วัดนั้นๆ แทนที่จะพยายามโจมตีข้อด้อยของจีดีพี ซึ่งก็เหมือนบ่นว่าทำไมแกงจืดมันไม่เผ็ด ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครทิ้งจีดีพีได้ เพราะกว่าจะได้ชุดข้อมูลที่เปรียบเทียบกันได้ทั่วโลกก็เลือดตาแทบกระเด็น จีดีพีก็คงยังเป็นตัววัดขนาดเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เพียงแต่ไม่ใช่จีดีพีเป็นตัวชี้วัดเดียวเท่านั้น ที่สำคัญก็คือต้องมารวมหัวกันคิดก่อนว่าอะไรสำคัญ แล้วใช้ตัวชี้วัดเหล่านั้นมาเติมเต็มจุดอ่อนของจีดีพี

การที่จะทำโพ ลเพื่อถามว่าคุณมีความสุขเท่าไหร่ ก็มีปัญหาว่าเป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับวันเวลา และตัวบุคคลที่ตอบมากเกินไป ยกตัวอย่างเช่น หากเช้านั้นทะเลาะกับแฟน ความสุขก็อาจจะลดลง แต่ไม่เกี่ยวกับความอยู่ดีมีสุขที่ควรใช้เป็นมาตรฐานของประเทศ

การ หาตัวชี้วัดใหม่จะไม่ง่ายนัก เพราะนอกจากจะต้องการปัญญาดีๆ และหัวใจที่อยู่ถูกที่ถูกทางแล้ว ยังต้องการการลงทุนอีกด้วย เพราะสถิติด้านสังคมจำนวนมากไม่มีการเก็บอย่างเป็นระบบ และที่มีอยู่แล้วอาจจะพบว่ามีแนวโน้มไปในทางเดียวกับจีดีพี

อย่าง เช่น สถิติที่สำคัญมาก ได้แก่ อัตราตายของทารก สถิติด้านการศึกษา เช่น จำนวนผู้จบมัธยมที่เรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือสถิติที่มีก็ไม่สะท้อนคุณภาพ เช่น ร้อยละของจำนวนคดีที่ศาลตัดสินเทียบกับจำนวนคดีที่เข้าสู่ศาล หรือดัชนีการศึกษา เช่น ร้อยละของการได้รับการพยาบาล และการศึกษาฟรี ก็ไม่ได้รับประกันคุณภาพที่ประชาชนได้รับ

มาถึงตรงนี้ คงไม่ใช่ปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์แต่ฝ่ายเดียวแล้ว คงต้องอาศัยนักสังคมศาสตร์ไปร่วมกันคิดกับนักสถิติอีกด้วย ในที่สุดก็อาจจะพบว่า สถิติทางสังคมที่สำคัญก็มักจะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับจีดีพีอยู่ดี หรือท้ายที่สุดอาจจะต้องหาวิธีที่ไม่อิงกับสถิติมากเกินไป

จะใช้วิธีไหนก็ไม่ง่ายนักหรอก จะบอกให้!!


หน้า 6