ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มาบตาพุดกับรางวัลโนเบล! โดย อภิชาต ทองอยู่ สถาบันผู้ประกอบการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (CEDI) ม.กรุงเทพ

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11554 มติชนรายวัน


มาบตาพุดกับรางวัลโนเบล!


โดย อภิชาต ทองอยู่ สถาบันผู้ประกอบการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (CEDI) ม.กรุงเทพ




ร้อน แรงพอควรสำหรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ ที่นักวิชาการสตรี สาขารัฐศาสตร์ เอลินอร์ ออสทรอม คว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ไปได้ นับเป็นสตรีคนแรกในรอบ 40 ปีที่ได้ครอบครองรางวัลนี้ แถมตัวเธอเองยังไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยตรงอีกด้วย

ทำให้นึก ถึงนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สตรีไทยหลายคน เช่น อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯทั้ง 2 ท่าน ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มสตรีหันมาสนใจเศรษฐศาสตร์ การเมืองกันมากขึ้น

เอลินอร์ ออสทรอม มีผลงานในการสร้างงานด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในเรื่อง "เศรษฐศาสตร์ธรรมาภิบาล" (economic governance) ที่ว่าด้วย "สมบัติของส่วนรวม" (the commons) มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะถ่อมตัวว่าเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยเล็กๆ ประจำเมืองแต่ผลงานของเธอไม่ธรรมดาเพราะมีรางวัลโนเบลเป็นหลักประกัน

ผล งานการศึกษาเรื่องการจัดการทรัพย์สินสาธารณะ (common property) ด้วยการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วม (common ownership) เป็นงานที่ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิผลในการคงสถานะและคุณภาพทรัพยากรที่มี ประสิทธิภาพ ด้วยการดูแลรักษาแบบถือครองร่วมกัน ซึ่งแม้การจัดการแบบนี้จะไม่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วไปอย่างที่เธอบอก แต่การดูแลและการครอบครองร่วมกัน การจัดการอย่างเป็นระบบก็ช่วยให้วงจรของการถูกนำมาใช้ของทรัพยากร การฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อม มีทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

การศึกษาของ เอลินอร์ ศึกษาจากกลุ่มท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดกลาง ในเรื่องการดูแลทรัพยากรร่วมกันในระบบชลประทานที่ชาวบ้านในเนปาลจัดทำกันเอง นับร้อยกลุ่ม และจากกลุ่มชาวประมงกุ้งในทะเลใหญ่ในมลรัฐเมน

ผลการ ศึกษาพบว่าการธรรมาภิบาลทรัพยากรในแนวทางนี้มีประสิทธิภาพสูง มีต้นทุนต่ำ ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์ว่าผลจากการศึกษาที่ได้คงไม่ใช่สูตรสำเร็จแบบครอบจักรวาล ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกที่ ทุกกลุ่ม หรือเป็นบทสรุปที่ต้องปล่อยให้ชาวบ้านไปจัดทำกันเองไปแต่ลำพัง

เพราะเรื่องเหล่านี้มีปัจจัย เงื่อนไข และสถานการณ์หลากหลายที่เป็นองค์ประกอบต้องนำมาพิจารณา

การ ให้คุณค่าในเรื่องธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่อง ที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลให้ความสนใจ เรื่องนี้น่าจะนำมาช่วยพิจารณาปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุดได้ อย่างดี จากการที่ศาลฯได้สั่งหยุด 76 โครงการน่าจะเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นภาพความเป็นจริงที่น่าวิตกในการ จัดการเศรษฐกิจ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในสังคมบ้านเราอย่างยิ่ง ซึ่งกรณีนี้มีข้อควรพิจารณาถึงมูลเหตุสำคัญที่เกิดขึ้นโดยสรุปบางประการ กล่าวคือ

ประการแรก พื้นฐานการก่อร่างสร้างตัวที่มาบตาพุด (ตั้งแต่เริ่มโครงการในต้นทศวรรษพุทธศักราช 2520) นับตั้งแต่ที่รัฐบาลเริ่มขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาเขต อุตสาหกรรมของประเทศ รัฐได้ให้ความสำคัญเฉพาะกับมิติเศรษฐกิจเป็นหลักโดยยึดแนวคิดการพัฒนาที่ เดินตามวาทกรรมทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งหมกมุ่นอยู่กับการสร้างผลกำไรในการลงทุนมิติเดียวโดดๆ

แนวทาง เศรษฐศาสตร์ธรรมาภิบาลแบบเอลินอร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลปีนี้เป็นเรื่องที่ ไม่ถูกพูดถึงตั้งแต่เริ่มโครงการ ผลกระทบทั้งหลายไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุด จึงเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางสังคมตลอดมา

มาบตาพุดจึงกลาย เป็นมหากาพย์อภิตำนานความขัดแย้งที่คนท้องถิ่นลุกขึ้นมาต่อต้านความหิว กระหายความมั่งคั่งอย่างไม่ลืมหูลืมตาของกลุ่มอุตสาหกรรมมาต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงวันนี้

ประการที่สอง เป็นประเด็นเรื่องขององค์ความรู้กับความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมายที่ เกี่ยวกับการนำใช้ทรัพยากร และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรม เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องการประสบการณ์และการเรียนรู้ รวมทั้งต้องมีการพัฒนาที่ใช้เวลาและความทุ่มเทมาก

ซึ่งในขบวนการ การเติบโตของอุตสาหกรรมเขตมาบตาพุด ได้มีการอาศัยช่องว่างของการขาดองค์ความรู้และจุดอ่อนในการบริหารจัดการทาง กฎหมายมาเป็นปัจจัยในการ "ลดต้นทุน" ของการเติบโตดังกล่าว โดยที่ปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ถูกโยนให้เป็นภาระของท้องถิ่นและสังคมที่ต้องร่วมรับผิดชอบกันเอง

ประกอบ กับสังคมไทยมีพื้นฐานแบบสังคมอุปถัมภ์ การต่อสายตรงกับราชการที่มีอำนาจในการจัดการ และอำนาจทางการเมืองของผู้ประกอบการย่อมคุ้มทุนกว่า และในทางปฏิบัติดูเหมือนว่าจะมีพลังมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย

ผู้ ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมจึงมักต่อสายตรงกับอำนาจ มากกว่าจะยอมทำตามกฎหมาย ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหลายกรณีรวมทั้งการจัดการอุตสาหกรรมทีพีไอในพื้นที่ ใกล้ๆ มาบตาพุดด้วย

หรือมิฉะนั้นก็ยอมทำกันตามกฎเพียงให้ครบองค์ประกอบของพิธีกรรม เช่น การทำ EIA เป็นต้น

ซึ่ง เมื่อผ่านการกลั่นกรอง (ที่ต้องถามหามาตรฐานและมาตรการในการทำงานใหม่ทั้งระบบ) ก็ใช้นำไปอ้างเป็นความชอบธรรมได้ การบริหารจัดการภายใต้ระบบอุปถัมภ์เช่นว่านี้ สะท้อนถึงความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายและการขาดความรับผิดชอบของผู้ ประกอบการจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้ก่อผลเสียหายอย่างมากต่อการลงทุน

และส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ มีธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจอย่างน่าวิตก

ประการ ที่สาม ภาพรวมทางจิตวิทยาสังคม ที่เป็นประเด็นความคิดในการพัฒนาประเทศมักมีการสร้างกระแสให้ผู้คนในสังคม ตื่นตูม ให้ความสำคัญกับตัวเลขการเติบโตแบบคณิตศาสตร์เชิงปริมาณ เน้นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งในรูปของจีดีพี ยิ่งมากยิ่งน่าตื่นเต้น (เหมือนกับที่สังคมให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ใบปริญญามากกว่าให้ความสำคัญ ในความรู้ความสามารถ)

ด้วยเหตุนี้สิทธิและการยอมรับทางสังคมจึง เปิดทางให้กับตัวเลขการลงทุน และการสร้างผลกำไรเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่าความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจะไปหล่นอยู่ในกระเป๋าใครบ้าง ความสนใจเรื่องคุณภาพชีวิต การกระจายรายได้ และความรับผิดชอบร่วมในการพัฒนาประเทศ จึงถูกกลืนหายไปกับวาทกรรมตัวเลขทางเศรษฐกิจ

หรือไม่ก็กลายเป็นเรื่องน่ารำคาญหากจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากัน!

ด้วย กระแสความรู้สึกเช่นนี้ตัวเลขของมูลค่าการลงทุน 2 แสนล้านจึงถูกให้สำคัญมากกว่ามูลค่าความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมและชี วพันธุ์ 5 แสนล้านฯ เป็นต้น

คุณค่าของชีวิต และคุณภาพสังคม จึงถูกกำหนดอยู่บนฐานการขับเคลื่อนด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

สภาวะ เช่นนี้กลุ่มคนท้องถิ่นและคนพื้นบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านซึ่งเคยมีพื้นที่ร่วมอยู่ในศูนย์กลางสังคมและเศรษฐกิจที่มาบ ตาพุดจึงถูกทำให้กลายเป็นคนชายขอบไปโดยปริยายเมื่ออาณาบริเวณดังกล่าวถูก กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรม!

การบริหารจัดการที่ขาดการพิจารณาถึง องค์ประกอบแวดล้อมที่เป็นจริงอาศัยแต่จิตวิทยาสังคมมิติเดียวที่ห่อเหี่ยว จึงเป็นปัจจัยสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมาอย่าง ไม่อาจปฏิเสธได้

จากประเด็นหลักโดยสรุปที่กล่าวมานี้ สามารถขยายเป็นประเด็นยิบย่อยได้อีกมาก ในกรณีนี้หากต้องการพิจารณาแก้ไขปัญหาที่มาบตาพุดอย่างจริงจัง หลักการทางปฏิบัติเบื้องแรกคงต้องหาข้อยุติที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อน

ซึ่งข้อยุติที่เกิดขึ้นและยอมรับกันได้ทุกฝ่ายคงต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและความเป็นธรรม

ใน ที่นี้คือการยุติหลักการความขัดแย้งระหว่างแนวทางทุนนิยมอุตสาหกรรม กับความรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม และสมรรถนะการแบกภาระการฟื้นฟูตัวเองของธรรมชาติ (carrying capacity) ในเขตมาบตาพุดเป็นหลัก

ซึ่งการจะก้าวไปถึงจุดนี้ได้คงต้องศึกษางาน ของผู้ได้รางวัลโนเบลปีนี้ที่ว่าด้วย "เศรษฐศาสตร์ธรรมาภิบาล" (economic governance) และการจัดการในลักษณะการครอบครองร่วม (common ownership)

ซึ่งกรณีมาบตาพุดเป็นกรณีที่รัฐต้องให้ความสำคัญกับหลายๆ ฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ชาวบ้าน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย

ซึ่ง การแก้ไขที่ยืนหยัดอยู่บนหลักการที่ยอมรับสภาพความจริงและให้ความเป็นธรรม กับทุกฝ่ายเท่านั้น จะเปิดทางสู่การสร้างผลประโยชน์และการพัฒนาร่วมกันได้ รางวัลโนเบลกับมาบตาพุดจึงมีเส้นทางที่วกมาเชื่อมต่อกันด้วยความบังเอิญ!

การ ลงทุนที่ตั้งอยู่บนฐานคติที่ละเลยความเป็นจริงทางด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคม และธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ กำลังจะกลายเป็นอาชญากรรมของโลกยุคใหม่ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ความอยู่รอดและความมั่งคั่งแบบใหม่ด้วยการขับเคลื่อน ของกลุ่ม "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" และ "เศรษฐกิจฐานความรู้" ในเวลาอีกไม่นานนัก


หน้า 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น