ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

ระเบิดแบงก์กรุงเทพ : ทุนเก่า + อมาตย์ + (เหลือง = ชนชั้นกลางเก่า ?) VS ทุนใหม่ + (แดง = ชนชั้นกลางใหม่ ?)

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4191  ประชาชาติธุรกิจ


ระเบิดแบงก์กรุงเทพ : ทุนเก่า + อมาตย์ + (เหลือง = ชนชั้นกลางเก่า ?) VS ทุนใหม่ + (แดง = ชนชั้นกลางใหม่ ?)


คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา

โดย อภิชาต สถิตนิรามัย apichat@econ.tu.ac.th



ทำไม จึงมีระเบิดหน้าธนาคารกรุงเทพหลายลูกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำไมไม่เป็นแบงก์อื่น ๆ แน่นอนว่าสิ่งนี้ต้องเชื่อมโยงกับการที่พลเอกเปรมเป็นประธานที่ปรึกษาของ ธนาคารกรุงเทพ และการประท้วงที่ถนนสีลมของกลุ่มคนเสื้อแดง ขอย้ำว่าประโยคนี้ไม่ได้เหมาว่าเสื้อแดงเป็นคนทำ แต่ไม่ว่าฝ่ายใดทำก็เป็นสิ่งที่ต้องประณามอย่างถึงที่สุดด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีเหตุผลใด ๆ พอเพียงสำหรับรองรับการใช้ลูกระเบิดเพื่อผลทางการเมืองทั้งนั้น แต่ประเด็นของผมคือ ธนาคารกรุงเทพนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มทุนเก่า (old money) ที่เติบใหญ่ขึ้นภายใต้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง กับชนชั้นนำทางธุรกิจของการเมืองแบบอมาตยาธิปไตย (คำนี้แปลจากคำว่า Bureaucratic Polity ของ F. Riggs โดยพ่อตาของนายกฯอภิสิทธิ์) ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2500-2540

3 ตัวละครหลักของเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 40 ปีนี้ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า ยุคทุนนิยมนายธนาคาร คือ หนึ่ง ชนชั้นนำทางอำนาจ นำโดยนายทหารในช่วงแรกและนักการเมืองจากการเลือกตั้งในช่วงหลัง ทำหน้าที่ปกครองเพื่อสร้างความสงบและเสถียรภาพทางการเมือง ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมและระบอบอมาตยาธิไตยเต็มใบ แล้วค่อย ๆ คลี่คลายกลายเป็นระบอบอมาตยาธิปไตยครึ่งใบ และระบอบประชาธิปไตยในช่วงหลัง
สอง กลุ่มเทคโนแครตนำโดย ธปท. ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย-บริหารเศรษฐกิจมหภาคและภาคการเงินการธนาคาร โดยเน้นเป้าหมายเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างบรรยายกาศที่เอื้ออำนวย แก่การสะสมทุนของภาคเอกชน สาม ชนชั้นนำทางธุรกิจนำโดยธนาคารกรุงเทพ ทำหน้าที่จัดสรรทุนและประสานการลงทุนในหมู่นักธุรกิจ ระบบนี้ก็ค่อย ๆ เสื่อมสลายจนสิ้นสุดลงในปี 2540

พันธมิตรสามเส้านี้ แม้ว่าจะร่วมมือกันขับเคลื่อนการสะสมทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมก็ตาม แต่ความสัมพันธ์กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในระหว่างเทคโนแครตฝ่ายหนึ่ง กับแนวร่วมของผู้กุมอำนาจการเมืองกับนายแบงก์อีกฝ่ายหนึ่ง นายธนาคารมักยืมมือของผู้มีอำนาจมาวีโต้นโยบายของเทคโนแครตตลอดมา ในแง่นี้การที่กลุ่มทุนใช้อำนาจทางการเมืองผลักดันกฎหมายให้เอื้อประโยชน์ แก่ธุรกิจตนจึงมิใช่เรื่องใหม่ กลุ่มธุรกิจของทักษิณไม่ใช่กลุ่มแรกที่ทำเช่นนี้ สิ่งที่แตกต่างคือ นายธนาคารใหญ่ ๆ ไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีเอง กรณีตัวอย่าง 3 เรื่องข้างล่างนี้ก็คงมากเกินพอที่จะชี้ถึงการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อ เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้นายธนาคาร
หนึ่ง ธนาคารกรุงเทพจัดตั้งใน พ.ศ. 2487 และประสบกับวิกฤตในปี 2495 ดังนั้นจึงต้องปรับองค์กรขนานใหญ่ ซึ่งทำให้นายชิน โสภณพนิช กลายเป็นผู้จัดการใหญ่ นายชินมีสายสัมพันธ์อย่างดีกับสมาชิกคนสำคัญ ๆ ของกลุ่มซอยราชครู เช่น พลตรีศิริ สิริโยธิน ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ และพลตรีประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งเป็นลูกเขยอีกคนหนึ่งของจอมพลผิน สายสัมพันธ์ของนายชินนี้ก่อประโยชน์ให้แก่ธนาคารกรุงเทพเป็นอย่างมาก กล่าวคือธนาคารกรุงเทพเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 20 เป็น 50 ล้านบาท โดยเงินทุนใหม่จำนวน 30 ล้านนี้เป็นของกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งคิดเป็น 60% ของหุ้นทั้งหมดของธนาคาร การเข้าถือหุ้นของกระทรวงผ่านการวิ่งเต้นของนายชินนี้เองที่ทำให้พลตรีศิริ ได้ตำแหน่งประธานกรรมการ ในขณะที่พลตรีประมาณกลายเป็นกรรมการบริหารของธนาคารในปี 2496 เหตุการณ์นี้เป็นผลประโยชน์ร่วมระหว่างกลุ่มผิน-เผ่ากับธนาคารกรุงเทพ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นกลุ่มของจอมพลสฤษดิ์มีธนาคารแหลมทองอยู่ในเครือข่าย ดังนั้นกลุ่มผิน-เผ่าจึงต้องการธนาคารกรุงเทพมาเป็นพวก ส่วนธนาคารกรุงเทพนั้นก็ได้รับอภิสิทธิ์ในฐานะที่เป็นธนาคารร่วมทุนของรัฐ จึงได้ทำธุรกิจด้านการเงินกับภาครัฐ รวมถึงกิจการส่งออกข้าวที่ในขณะนั้นถูกควบคุมโดยรัฐด้วย ผลก็คือส่วนแบ่งการตลาดของธนาคารได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ 2 ปีต่อมาเมื่อธนาคารมีกำไรแล้วคณะรัฐมนตรีก็มีมติอนุมัติให้กระทรวงเศรษฐการ ขายหุ้นคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมในราคา 15 ล้านบาท หนังสือพิมพ์สารเสรีในสายของจอมพลสฤษดิ์จึงกล่าวโจมตีว่ากลุ่มผิน-เผ่าปล้น เงินของรัฐ ดังนั้นภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 นายชินจึงต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ฮ่องกง ระหว่างนั้น พล.ต.ประภาส จารุเสถียร ทหารคนสำคัญของกลุ่มสฤษดิ์ก็มีบทบาทในการหนุนช่วยธนาคารกรุงเทพต่อมา โดยเป็นทั้งประธานธนาคาร (2500-2516) และผู้ถือหุ้นคนสำคัญ

สอง ในปี 2500 เมื่อเทคโนแครตต้องการร่างกฎหมายการธนาคารฉบับใหม่ขึ้นเพื่อควบคุมให้ระบบ ธนาคารมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และประกาศใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2505 การที่กฎหมายฉบับนี้ใช้เวลาร่างถึง 5 ปีนั้นเป็นเพราะเทคโนแครตต้องเผชิญกับการต่อรองที่หนักหน่วงจากเหล่านาย ธนาคารจนถึงขั้นที่ร่างนี้ถูก "ทำแท้ง" โดยการถอนร่างออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 8 เมษายน 2502 นายโชติ คุณเกษม รัฐมนตรีคลัง ระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาถอนร่างตามคำแนะนำของสมาคมนายธนาคารไทย และนายบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งเป็นมือขวาของธนาคารให้สัมภาษณ์กับผมเมื่อปี 2541 ว่า "เรารู้ว่าคุณโชติเป็นคนสำคัญในการตัดสินใจ เนื่องจากแกเป็นคนใกล้ชิดกับจอมพลสฤษดิ์ ดังนั้นเราจึงเข้าหาแก...วัตถุประสงค์ของเราก็คือต้องการให้กฎหมายและข้อบังคับใหม่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเรา" ประเด็นหลักที่เป็นข้อขัดแย้ง คือ มาตรา 13 ของ พ.ร.บ. 2505 เรื่องการปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายใหญ่ที่เทคโนแครตไม่ต้องการให้ธนาคารปล่อยกู้ แบบกระจุกตัวแก่ลูกค้ารายหนึ่ง ๆ มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อที่ผู้บริหาร/เจ้าของธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้อง (insider lending) ซึ่งทำกันมากในสมัยนั้น

สาม ในยุครัฐบาลพลเอกเปรมเมื่อถึงปี 2522 เริ่มมีปัญหาบริษัทเงินทุนล้มขึ้น เทคโนแครตจึงต้องการออกกฎหมายสถาบันประกันเงินฝากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อ มั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน แต่ก็ถูก "ทำแท้ง" อีกครั้งโดยนายธนาคารผ่านการชี้แนะให้นายสมหมาย ฮุนตระกูล ถอนร่างกฎหมายนี้ออกจากการพิจารณาของรัฐสภาในปี 2524 ประเด็นสำคัญที่สุดในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก คือ อำนาจของสถาบันประกันเงินฝากที่จะสั่งปลดผู้บริหารที่ทุจริต ถ่ายโอนธุรกิจหรือควบรวมกิจการของสถาบันการเงินที่ล้มเหลว ดังนั้นกว่าที่กฎหมายแบบนี้จะเกิดขึ้นจริงก็เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง

นอกจากนี้แล้ว พลเอกเปรมยังมีบุญคุณโดยตรงกับธนาคารกรุงเทพอีกด้วย ประมาณปี 2527 เมื่อธนาคารเอเชียทรัสต์ล้มลงจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดข่าวลือว่า ธนาคารกรุงเทพสาขาฮ่องกงขาดทุนหนักมาก ทำให้ผู้ฝากแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคาร เมื่อนายกฯเปรมออกมายืนยันกับสาธารณชนว่า ฐานะทางการเงินของแบงก์กรุงเทพยังมั่นคงอยู่ ประชาชนจึงหยุดตื่นตระหนก ผมเข้าใจเอาเองว่าหลังจากนั้นตระกูลโสภณพนิช จึงสำนึกในบุญคุณของพลเอกเปรมมาตลอด ทำให้ไม่แปลกใจว่านายใหญ่ของธนาคารเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะ 11 ด้วย

จาก 3 กรณีข้างต้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของทุนธนาคารจึงเกิดขึ้นภายใต้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และการ อุปถัมภ์ของเหล่าอมาตย์มาตลอด จนกระทั่งตกเวทีทางประวัติศาสตร์ไปเมื่อวิกฤตการเงินปี 2540 ทำให้ทุนธนาคารสูญเสียฐานะครอบงำเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ทุนรุ่นใหม่ (new money) ในภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) เช่น กลุ่มธุรกิจของทักษิณและพวกพ้องก้าวขึ้นมามีฐานะครอบงำแทนในสังคมการเมืองไทย ในแง่นี้ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันจึงเป็นความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ ระหว่างเครือข่ายทุนเก่า + อมาตย์ กับทุนใหม่ แต่สิ่งที่ปัจจุบันไม่เหมือนกับความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำครั้งก่อน ๆ คือ การเติบโตขึ้นของพลังทางสังคมกลุ่มใหม่ ๆ (เหลือง = ชนชั้นกลางเก่า ? VS แดง = ชนชั้นกลางใหม่ ?) ซึ่งไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ กลุ่มใหม่ ๆ เหล่านี้ไม่ยอมอยู่เฉย ๆ เหมือนเช่นอดีตอีกต่อไป แต่กลับออกมา "เลือกข้าง" ทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี โดยหวังว่าฝ่ายที่ตนเลือกจะเป็นล้อเลื่อนสู่ทั้งผลประโยชน์ทางชนชั้นและจินตนาการทางการเมืองของกลุ่มตน

ผมไม่รู้ว่าความคิดคำนึงข้างต้นสอด คล้องกับ "ความเป็นจริง" ทางสังคมในปัจจุบันแค่ไหน แต่ผมแน่ใจว่ากลุ่มระเบิดข้างต้นจะไม่ใช่ระเบิดชุดสุดท้าย


หน้า 34
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02edi05110353&sectionid=0212&day=2010-03-11

--
Web link
http://www.edtguide.com/SuanplooThaiMassage_486629
http://www.victam.com
http://weblogcamp2009.blogspot.com
http://www.niwatkongpien.com
http://sundara21.blogspot.com
http://www.educationatclick.com
http://www.pwdom.com/v1/
http://cloudbookclub.blogspot.com
http://blogok09.blogspot.com
http://thairaptorgroup.com/TRG/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=2049
http://www.ias.chula.ac.th/Thai/modules.php?name=NuCalendar

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น