ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เฮ! "คลัง"ยกเว้น"หักภาษี" ณ ที่จ่ายผู้ฝากเงินออมทรัพย์ "ดบ."ไม่เกิน2หมื่นต่อปี ครอบคลุม 62 ล้านบัญชี

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เวลา 20:13:08 น.  มติชนออนไลน์

เฮ! "คลัง"ยกเว้น"หักภาษี" ณ ที่จ่ายผู้ฝากเงินออมทรัพย์ "ดบ."ไม่เกิน2หมื่นต่อปี ครอบคลุม 62 ล้านบัญชี

คลังประกาศยกเว้น"หักภาษี" ณ จ่ายให้ผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ ดบ.ไม่เกิน 2 หมื่น/ปี ครอบคลุม 62 ล้านบัญชี ชี้กระทบฐานะการคลังแค่ 400 ล้าน "สามสี"เข้าพบนายกฯ แนะวิธีสู้ ศก. อัดเงินกู้ 4 แสนล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมว่า กระทรวงการคลังออกประกาศกรมสรรพากรยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินฝากออมทรัพย์รายบัญชีเงินฝาก ที่มีรายได้ดอกเบี้ยไม่เกินปีละ 20,000 บาท ทุกธนาคารทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันเดียวกันนี้ ซึ่งจะครอบคลุมเงินฝากออมทรัพย์ 62 ล้านบัญชี เป็นเม็ดเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ผู้มีเงินฝากออมทรัพย์หลายบัญชี หากได้ดอกเบี้ยรวมกันแล้วเกิน 20,000 บาท มีหน้าที่แจ้งธนาคารแต่ละแห่งให้หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือจะรวมยอดทั้งปีในช่วงยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้


"เกณฑ์ดังกล่าวเป็นสิทธิประโยชน์เดิมที่รัฐบาลให้กับผู้ฝากเงินออมทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2538 แต่ในทางปฏิบัติไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากธนาคารมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายดอกเบี้ยอยู่แล้ว เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่า มีใครบ้างที่ขอคืนภาษี ซึ่งในแต่ละปีรัฐจะมีรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 300-400 ล้านบาท ที่ธนาคารพาณิชย์หักภาษี ณ ที่จ่ายและส่งเงินให้สรรพากร ซึ่งสรรพากรเองไม่ได้ติดใจตรงส่วนนี้ เพราะถือว่าธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว" นายกรณ์ กล่าว


นายกรณ์ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ยกเว้นภาษีจากรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 100,000 บาท ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการแก้ไขประกาศสรรพากรที่ยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย บัญชีออมทรัพย์ที่มีรายได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท นั้นมีผลกว้างกว่า ครอบคลุมบัญชีออมทรัพย์ถึง 62 ล้านบัญชี จากจำนวนบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมด 63 ล้านบัญชี ซึ่งหากประเมินจากดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ปัจจุบันที่ 1% กรณีที่จะได้สิทธิยกเว้นจะต้องมีเงินฝากออมทรัพย์แต่ละบัญชีประมาณ 4 ล้านบาท และที่สำคัญไม่ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายรัษฎากร เพราะเป็นเกณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ออกประกาศให้เกิดความชัดเจนและปฏิบัติได้จริง


สำหรับผลกระทบต่อฐานะการคลัง นายกรณ์กล่าวว่า เงินภาษีที่เก็บได้ดังกล่าวไม่มาก เพียงปีละ 300-400 ล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ น่าจะบรรเทาปัญหาของคนที่อาศัยรายได้จากดอกเบี้ยได้มากกว่า


ขณะที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า เข้าหารือนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ร่วมกับนายกฯ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ โดยแนะนำบางอย่างไปในฐานะนักวิชาการว่า นโยบายอะไรควรทำก่อนทำหลัง แต่ไม่ได้แนะนำว่าให้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ มาอีก


นายไตรรงค์ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลขณะนี้หลายตัวก็เริ่มผลแล้ว ทั้งการใช้น้ำไฟฟรี เรียนฟรี แต่การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท จากนี้ไปตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง ควรจะเน้นไปที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ เพื่อให้ประเทศมีศักยภาพสูงขึ้น ไว้รอเก็บเกี่ยวผลหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในปีหน้า ทั้งโครงการรถไฟรางคู่ ท่อเรือน้ำลึก และปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เสื่อมโทรม ซึ่งจะนำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ


"สาเหตุที่เศรษฐกิจในประเทศขณะนี้ยังถดถอยอยู่ เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่พ้นแฮมเบอเกอร์ไครซิส ทำให้การส่งออกของเราลดลงถึง 30% จนมีคนตกงานจำนวนมากและไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ไม่มีทุกสิ่งที่ไหนจะแก้ปัญหาขณะนี้ได้ เพราะไทยเป็นแค่รัฐบาลเล็กๆ เราเพียงแค่รักษาสถานภาพของประเทศไว้ ทานกระแสโลกให้ตกต่ำน้อยที่สุด ปัญหาขณะนี้แม้แต่บารัค โอบามา มาเป็นนายกฯไทยเอง ก็แก้ไม่ได้" นายไตรรงค์กล่าว


นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) โดยที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ และแนวทางทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และคำของบประมาณของจังหวัด/กลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2554 โดยโครงการที่จะเสนอของบจังหวัด/กลุ่มจังหวัดได้ต้องสอดคล้องกับเกณฑ์ ดังนี้


1.เป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนปฏิบัติราชการจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 3.ความเป็นไปได้ของโครงการ และ 4.ความคุ้มค่าของโครงการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคง


ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ก.น.จ.กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้จังหวัด/กลุ่มจังหวัด 1.8 หมื่นล้านบาท แบ่งออกมาเป็น 2 ส่วนคือ งบฯ ที่จัดสรรลงไปที่จังหวัด/กลุ่มจังหวัดโดยตรงเพื่อให้ดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการ และงบฯ ที่จะกันไว้กองกลาง เพื่อจัดสรรให้จังหวัดที่นำเสนอโครงการที่ดี ทั้งนี้ นายกฯได้ขอให้แต่ละจังหวัดปรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดใหม่ โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญเพียง 1-2 ประเด็นเท่านั้น และไปเน้นดำเนินการให้เสร็จตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง อาทิ ถ้าจังหวัดไหนจะชูยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงไหน ตั้งเป้าหมายอย่างไร


วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ทิศทางประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์" ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์ ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่นั้น ได้เน้นว่า เลี่ยงไม่ได้ในการบริหารยุคโลกาภิวัตน์ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ 1.ต้นปี 2551 ยังรู้สึกว่า สถาบันการเงินไทยแข็งแรง ไม่มีปัญหาแม้จะมีวิกฤตที่อื่นในโลก แต่ไทยน่าจะมีภูมิคุ้มกัน และปลายปี 2551 ชัดเจนว่า แม้พื้นฐานของไทยไม่มีปัญหา แต่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก จึงได้รับผลกระทบด้านส่งออก การท่องเที่ยว และจีดีพี


2.ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เห็นชัดว่า เชื้อโรคไม่ได้เลือกพรมแดนทุกสังคมและเศรษฐกิจต้องผูกพันกับโลกาภิวัตน์เลี่ยงได้ยาก วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้อาจไม่เกิดขึ้น หากสามารถแก้ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก เพราะจีนสะสมเงินทุนสำรองมากขึ้น แต่อเมริกาขาดดุล จนพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองของอเมริกาเป็นฟองสบู่ เมื่อมีปัญหาแล้วก็ไม่มีกลไกการนำเงินส่วนเกินในหลายประเทศไปแก้ไขปัญหาระบบการเงินในอเมริกาและยุโรป เรื่องนี้พูดกันมากในที่ประชุมผู้นำระดับประเทศต่างๆ ส่วนความสัมพันธ์ของเอกชนนั้นมันเกินเลยกว่าที่ประเทศใดๆจะจัดการได้


ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) ร่วมแถลงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่รับผิดชอบโดยตรงโครงการรับจำนำข้าว ให้ดูแลราคาข้าว เนื่องจากขณะนี้ข้าวถุงทุกชนิดมีราคาสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของประชาชน ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย โดยขอให้รัฐบาลนำข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวที่ยังค้างสต๊อคอยู่ออกมาบรรจุถุง เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนที่เดือดร้อน ในหมู่บ้านชนบทต่างๆ

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น