| วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เวลา 18:09:56 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ [อ่านล่าสุด 2870 คน] เปิดกฎหมายฟอกเงินล่าสุด ′9 อาชีพ′แจ็กพอตต้องรายงานธุรกรรมกับ "ป.ป.ง."
ประกาศในราชกิจจาฯแล้วกฎหมายฟอกเงินของป.ป.ง. ฉบับแก้ไขใหม่ล่าสุด ระบุชัด9 วิชาชีพต้องรายงานธุรกรรมต่อป.ป.ง. กรณีมีเงินสดเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือมีธุรกรรมอันควรสงสัย ทั้งขายเพชร ขายทอง เช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล นายหน้าอสังหาฯ ค้าของเก่า ฯลฯ มีผลบังคับใช้ 22 ต.ค.2552 ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า วันนี้ ( 22 กรกฎาคม 2552 ) พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ได้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา แล้ว สาระสำคัญของการแก้ไขพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ครั้งใหม่ล่าสุด คือ การกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพ 9 ประเภท มีหน้าที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานป.ป.ง. ในกรณีเป็นธุรกรรมที่ใช้เงินสดมีจำนวนเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือเป็นธุรกรรมที่มีเหตุ อันควรสงสัย ผู้ประกอบวิชาชีพ 9 ประเภท ประกอบด้วย (1) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการ การให้คำแนะนำ หรือการเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินตามมาตรา 13 (2) ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณีเพชรพลอย หรือทองคำ (3) ผู้ประกอบอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ (4) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (5) ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า (6) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับหรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (7) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (8) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (9) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุม ดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาชีพตาม (2) (3) (4) และ (5) ต้องเป็นนิติบุคคล เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยที่มีพยานหลักฐานอันสมควรว่ามีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการ กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินกับผู้ประกอบอาชีพตาม (2) (3) (4) และ (5) ที่มิได้เป็นนิติบุคคล ให้สำนักงานป.ป.ง.มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน นอกจากนี้ ยังแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพทั้ง 9 ประเภท จัดให้ลูกค้าแสดงตนทุกครั้ง ก่อนการทำธุรกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดอุปสรรคในการแสดงตน ของคนพิการหรือทุพพลภาพด้วย เว้นแต่ลูกค้าได้แสดงตนไว้ก่อนแล้ว ผู้ใด ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง" ทั้งนี้ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 นับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือ วันที่ 22 ตุลาคม 2552 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น