ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

จากริมถนนขึ้นตึกไฮโซ "จีฉ่อย" ขวัญใจชาวจุฬาฯ

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11462 มติชนรายวัน


จากริมถนนขึ้นตึกไฮโซ "จีฉ่อย" ขวัญใจชาวจุฬาฯ


สุทธาสินี จิตรกรรมไทย - เรื่อง ภานุมาศ สงวนวงษ์ - ภาพ




"จีฉ่อย" กับร้านจีฉ่อย

ตลาดสามย่าน ถูกรื้อจนราบเป็นหน้ากลองไปแล้ว คราวนี้ถึงเวลาของ ตึกแถว ที่อยู่ด้านหน้าตลาดริมถนนพญาไทบ้าง

ตึกแถวชุดนี้หากนับอายุก็ล่วงเลยเข้าวัยกลางคนกำลังจะทุบทิ้ง...โดยเริ่มต้นลงมือไปบางส่วนแล้ว เหตุผลยอดฮิตที่เจ้าของที่ดินให้ไว้ก็คือ ต้องการจะพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทุบทำไม ทุบแล้วสร้างอะไร เป็นคำถามที่ดังอื้ออึงอยู่ในหมู่อาจารย์และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แม้เจ้าของที่จะมีคำตอบอย่างเป็นทางการให้แล้วก็ตาม)

เพราะใครๆ ก็รู้ว่าตึกแถวที่กำลังจะทุบนี้เป็นที่ตั้งของร้าน "จีฉ่อย" ที่ชาวจุฬาฯยกย่องให้เป็น "ขวัญใจของชาวจุฬาฯ" ดังนั้น หากทุบตึกแถวทิ้งแล้ว

"จีฉ่อย" ขวัญใจจะย้ายร้านไปขายของที่ไหน เป็นที่หวั่นวิตกของชาวรั้วสีชมพูยิ่ง

"จีฉ่อย" เป็นใคร? มาจากไหน? ทำไมถึงมาเป็นขวัญใจชาวจุฬาฯ มีตำนานเล่ามาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ-รุ่นแม่

จีฉ่อย เป็นทั้งชื่อเจ้าของร้าน และชื่อร้านขายของชำหรือโชห่วยอันลือลั่นแห่งสามย่าน ตั้งอยู่บริเวณตึกแถวที่กำลังจะถูกทุบ ริมถนนพญาไท เจ้าของร้านชื่อจีฉ่อย เป็นหญิงชราร่างเล็กวัยประมาณ 70

ร้านจีฉ่อยปักหลักอยู่ตรงนี้มาไม่ต่ำกว่า 40 ปี ใครเดินผ่านไปมาต้องสะดุดตา เพราะข้างในร้านมีสินค้าอัดแน่นอยู่เต็มจนแทบไม่มีทางเดิน กระทั่งหลายคนแอบตั้งชื่อให้ใหม่เป็น "ห้างสรรพสินค้าจีฉ่อย" เพราะขายตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ!!

หากจะจาระไนของขายในร้านคงไม่สามารถจาระไนได้หมด เอาเป็นว่าใครไปถามหาจะซื้อสินค้าอะไร จีฉ่อยหาให้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าอุปกรณ์การเรียน สมุด หนังสือ ยางลบ ปากกา อุปกรณ์กีฬา เรื่อยไปจนถึงหมุด ตะปู ค้อน เลื่อย สีทาบ้าน กระบวยตักน้ำ สายยาง ที่นอน หมอน มุ้ง เก้าอี้ ตะกร้า กระจาด กระด้ง แหวนรุ่นของบางคณะในจุฬาฯ ใบลงทะเบียนเรียนของจุฬาฯ ก็ยังมี- -

ยิ่งตอนนี้กำลังฮิตหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 คุณป้าจีฉ่อยก็ยังมีขายกับเขาด้วย เคียงคู่สบู่เหลวล้างมือ

ตำนานของร้านนี้ว่ากันถึงขั้นหากใครหาซื้ออะไรที่ไหนไม่ได้ให้มาร้านจีฉ่อย คุณป้าจะจัดหามาให้ไม่มีพลาด ถ้าวันที่มาซื้อยังหาไม่ได้ประโยคฮิตติดปากของหญิงวัย 70 ผู้นี้คือ "พรุ่งนี้ลื้อมาเอา"

ชีวประวัติของจีฉ่อย-เจ้าของเอกลักษณ์ฟันทอง 2 ซี่ ค่อนข้างจะเป็นความลับ เพราะเจ้าตัวไม่ยอมปริปากบอกใครง่ายๆ หากไปถามกันตรงๆ มีแต่จะโดนไล่ตะเพิดออกจากร้าน แต่ถ้าวันไหนอารมณ์ดีจีฉ่อยถือโอกาสเล่าให้ฟังเองไม่ต้องไปอ้อนวอนกันให้ยาก

(ซ้ายบน) ยู เซ็นเตอร์ (ขวาบน) บริเวณที่เคยเป็นตลาดสามย่าน (ล่าง) ร้านค้าเริ่มย้ายออกจากตึกแถวริมถนนพญาไท



"พ่อจีฉ่อยทำงานธนาคาร ส่วนแม่ขายของ จีฉ่อยมีพี่น้อง 5 คน จีฉ่อยเป็นคนที่ 2 ฐานะทางบ้านถือว่าค่อนข้างดี หลายสิบปีก่อนพ่อจีฉ่อยถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เลยแบ่งเงินมาเปิดร้านขายของชำ...เมื่อก่อนไม่ได้อยู่ตึกแถวตรงนี้หรอก แต่อยู่ลึกเข้าไปใกล้ๆ กับคณะนิติศาสตร์" เสียงบอกเล่าเล่าไปเรื่อยๆ

และราวกับคนฟังถูกหวยรางวัลที่ 1 เมื่อจีฉ่อยลุกขึ้นไปหยิบรูปถ่ายที่อยู่ในซองพลาสติคใสเอาออกมาให้ดูพร้อมบอกเล่าเรื่องราวในรูป เพราะโดยปกติแล้วเจ้าของร้านของชำผู้นี้ไม่มีชวนใครสนทนาง่ายๆ

"น้องสาวคนหนึ่งของจีฉ่อยเรียนจบด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และยังได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลียอีกด้วย ปัจจุบันน้องสาวเขารับราชการอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ หลังเลิกงานแล้วก็แวะมาหาที่ร้านเสมอๆ

"เมื่อก่อนสามย่านคึกคักมาก แต่พอมีห้างพวกนิสิตก็ไปเดินห้างกันหมด" จีฉ่อย เปิดฉากสนทนาถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

"เขาจะทุบตึกตรงนี้แล้วก็เสียดายสิ เพราะขายของและอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งหลายสิบปีแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ไปปลูกบ้านอยู่แถวพระราม 2 พอเช้าก็มาเปิดร้าน มืดๆ ก็กลับบ้าน ตอนนี้หลายร้านบริเวณนี้ย้ายออกไปแล้ว ร้านจีฉ่อยก็ต้องย้ายออกไปบ้าง เขาจะรื้อแล้วนี่ อาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ก็มาถาม จีฉ่อยจะยังขายของอยู่ไหม เพราะเป็นขวัญใจจุฬาฯ... เขาบอกว่าเราเป็นขวัญใจจุฬาฯ..." หญิงวัยเจ็ดสิบยิ้มกว้างเห็นฟันทอง

"เราก็บอกว่ายังขายของอยู่นั่นแหละ อาจารย์หลายคนเป็นห่วง เขาซื้อของกับจีฉ่อยมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ จนใกล้เกษียณแล้วยังมาซื้ออยู่เลย" จีฉ่อยเล่าพลาง

มีเสียงร่ำลือว่ามีนิสิตหลายคนชอบมา "ลองของ" กับจีฉ่อย สั่งซื้ออะไรยากๆ แล้วจีฉ่อยสามารถหาให้ได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ไม่ว่าเปียโน หรือข้าวมันไก่ เสียงคนนั่งฟังถามขึ้นมั่ง

"เขาคงฝันไปมั้ง" จีฉ่อยบอก

แม้จีฉ่อยจะไม่ได้ต้อนรับลูกค้าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มตามฉบับยิ้มสยาม แต่ความเอาจริงเอาจังและซื่อสัตย์ จริงใจต่อลูกค้า ก็เป็นเสน่ห์ในการขายของจีฉ่อย ทำให้ชาวบ้านร้านตลาดย่านนั้นรวมถึงอาจารย์และนิสิตจุฬาฯติดอกติดใจ พากันมาซื้อของที่ร้านอยู่เป็นประจำ ครั้นเมื่อเกิดเรื่องราวทุบตึกทิ้งจึงกลายเป็นหัวข้อ "ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์" ของใครต่อใครที่รู้จักจีฉ่อย ซึ่งสำหรับเจ้าตัวแล้ว บอกว่า- -



"ไม่เป็นไรหรอก...จีฉ่อยยังขายของอยู่เหมือนเดิม แต่จะย้ายจากตรงนี้ขึ้นไปอยู่ที่ยู เซ็นเตอร์" เสียงจีฉ่อยบอก แล้วเล่ารายละเอียดให้ฟัง ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มาหา แล้วบอกให้เลือกเอาระหว่าง จามจุรี สแควร์ อาคารสูงหลายสิบชั้นซึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนนพญาไทเยื้องกับร้านจีฉ่อยไปเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของร้านค้า ที่พัก และอาคารสำนักงาน กับ ยู เซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ข้างๆ ตลาดสามย่านที่เพิ่งถูกรื้อไป เปิดเป็นหอพักสำหรับนิสิตจุฬาฯ และมีร้านค้าตั้งอยู่ชั้นล่าง

"สองแห่งนี้เขาให้จีฉ่อยเลือกว่าจะไปตั้งร้านขายอยู่ที่ไหน"

"แล้วจีฉ่อยเลือกไปไหน?" คนฟังถามอีก

"จีฉ่อยดูแล้วจามจุรี สแควร์ หรูเกินไป เข้าไปแล้วเดี๋ยวเดินไม่ถูก ไม่รู้จะเดินไปทางไหน เวลาจะเปิดจะปิดร้านก็ต้องตามเวลาเขา...ไม่สะดวกหรอก

"เลยบอกทางจุฬาฯไปว่า อย่างงั้นขอไปอยู่ ยู เซ็นเตอร์ ดีกว่า ปิดร้านดึกได้ แต่ก็เป็นร้านชั้นเดียวนะ ที่นี่มีตั้ง 4 ชั้น ยังไม่รู้เลยว่าจะขนของไปยังไง ตู้นี่ก็ไม่รู้จะเอาไปยังไง" เสียงเจ้าของร้านตอบ แล้วมองไปที่ตู้กระจก 2 ตู้หน้าร้านมีสินค้าสารพัดอยู่ข้างใน

เจ้าของร้านขวัญใจชาวจุฬาฯ หันกลับมาพยักพเยิดกับคนฟัง บอกเสียงดังกว่าปกติ ว่า- -

"จีฉ่อยจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ปลายปีนี้แหละ แล้วว่าจะทำป้ายชื่อร้านจีฉ่อยตัวใหญ่ๆ เขาจะได้รู้ว่าตัวจริงเสียงจริง" หญิงวัยเจ็ดสิบยิ้มกว้างถูกอกถูกใจ

เป็นอันว่า "จีฉ่อย" ขวัญใจชาวจุฬาฯ ยังไม่ปิดตำนาน แค่เพียงย้ายนิวาสถานจากริมถนนไปอยู่อาคารไฮโซเท่านั้นเอง



ลูกค้าขาประจำ"จีฉ่อย"

- กิตติ จิวโพธิ์เจริญ อายุ 26 ปี

นิสิตปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

"ได้ยินชื่อร้านจีฉ่อยตั้งแต่เรียนปริญญาตรีปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่กว่าจะได้ไปซื้อของที่ร้านจีฉ่อยก็ตอนอยู่ปี 2 ตอนนั้นต้องใช้กระดาษโปสเตอร์ สเปรย์ คลิป เป็นอุปกรณ์ทำบอร์ดนิทรรศการ เพื่อนก็ชวนไปซื้อร้านจีฉ่อย เพราะเพื่อนบอกว่าร้านนี้มีทุกอย่าง พอเห็นร้านตอนแรกก็ตกใจเพราะไม่คิดว่าจะมีของเยอะขนาดนั้น...ทึ่งมาก สมคำเล่าลือจริงๆ...

"หน้าตาจีฉ่อยไม่ได้ยิ้มแย้มต้อนรับอะไรมาก แต่จีฉ่อยไม่ดุ มีจิตใจบริการมากๆ อย่างผมจะซื้อแม่กุญแจ จีฉ่อยถามว่าเอาไซซ์ไหน ก็บอกไปว่าขนาดกลางๆ ไม่ต้องใหญ่มาก จีฉ่อยก็หายเข้าไปในร้าน ให้ผมกับเพื่อนรออยู่ข้างนอก สักพักจีฉ่อยก็กลับออกมาพร้อมแม่กุญแจหลายขนาด และถ้าเราเลือกนาน จีฉ่อยก็ไม่หงุดหงิดใส่ลูกค้า...เลยเป็นลูกค้ากันมาตลอด

"ไม่เคยซื้ออะไรแล้วจีฉ่อยบอกว่าไม่มีนะครับ อาจเพราะผมไม่ได้ไปซื้ออะไรที่แปลกมาก"

ส่วนที่จีฉ่อยต้องย้ายร้านออกจากตึกแถวที่อยู่เดิมนั้น "ไม่อยากให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะที่ตั้งเดิมทำเลดี ใครผ่านไปผ่านมาสามารถหาซื้อของได้สะดวก และหากย้ายไปที่ใหม่แล้วไม่รู้ว่าสินค้าจะมีมากเหมือนเดิมหรือเปล่า...

"ผมคิดว่าจีฉ่อยคือส่วนหนึ่งของจุฬาฯ อาจไม่ใช่ร้านที่ใหญ่โตแต่ก็ได้ใจนิสิตไปเต็มๆ"

- ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย อายุ 28 ปี

ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

"รู้จักร้านจีฉ่อยตั้งแต่ยังเด็กๆ เพราะบ้านอยู่แถวสามย่าน ตอนนั้นเคยซื้อของร้านจีฉ่อยอยู่บ้างแต่ไม่บ่อย มาซื้อมากขึ้นก็ช่วงที่เรียนปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ ยิ่งช่วงที่ทำกิจกรรมรับน้องและทำกิจกรรมของชมรมต้องอยู่มหาวิทยาลัยดึกๆ ไม่รู้จะไปหาซื้ออุปกรณ์ที่ไหนก็นึกถึงร้านจีฉ่อย ถ้าร้านปิดจะใช้วิธีไปเคาะประตูหลังร้าน สักพักหนึ่งจีฉ่อยจะลงมาเปิดประตูแล้วถาม "ลื้อจะเอาอะไร" แล้วไปหยิบมาให้ ไม่เคยมีสีหน้าหงุดหงิดหรือรำคาญแม้แต่น้อย

"เพื่อนส่วนใหญ่ในคณะก็ซื้อของร้านจีฉ่อย...ในกรณีที่ของหายาก หาที่ไหนแล้วไม่น่าจะมี จีฉ่อยจะเป็นทางเลือกแรก หรือบางครั้งซื้อของจากที่อื่นมาแล้วร้านจีฉ่อยไม่มีขาย จีฉ่อยจะถามว่าคืออะไร ขายยังไง ราคาเท่าไหร่ คิดว่าหลังจากนั้นจีฉ่อยอาจไปรับมาขายบ้างก็ได้

"เสน่ห์ของร้านจีฉ่อย ผมว่าอยู่ที่ความตั้งใจจริงในการขาย อย่างถ้าสินค้าที่ลูกค้าต้องการไม่มีหรือหมด จีฉ่อยจะบอกให้มาใหม่วันพรุ่งนี้แล้วก็ไม่ผิดหวัง หรือไม่ก็ถามว่าให้เอาตัวอื่นที่ใกล้เคียงไปแทนได้หรือเปล่า ของในร้านก็ราคาไม่แพง แถมยังสามารถต่อรองราคาได้ และยังอยู่ที่การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนขาย-คนซื้อ มีการพูดคุยทักทายกันไม่ใช่ซื้อของเสร็จแล้วก็จบ

"ผมมองว่าจีฉ่อยคือส่วนหนึ่งของสามย่าน และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็กจุฬาฯ มาหลายสิบปีแล้ว"


หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01280752&sectionid=0131&day=2009-07-28
                          

--
      Weblink
http://ilaw.or.th
www.patani-conference.net
http://www.thaihof.org
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://www.bedo.or.th/default.aspx
http://weblogcamp2009.blogspot.com
http://seminarmon.blogspot.com
http://seminartue.blogspot.com
http://seminarwed.blogspot.com
http://seminarthu.blogspot.com
http://seminarfri.blogspot.com
http://seminar1951.blogspot.com
http://seminardd.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น