เรื่องราวจากหลังเขื่อน : ผู้เสียสละเพื่อการพัฒนา..เป็นเจ้าของแต่ไม่ได้ใช้ โดย : วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ เมื่อ : 17/07/2009 09:59 AM |
เรื่องมันมีอยู่ว่า เมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ผมในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการเครือข่ายเยาวชนประชาธิปไตย ให้กับสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ไปจัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายเยาวชนประชาธิปไตยรุ่นที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกิจกรรมของผมนั้นนอกจากการสัมมนาถอดบทเรียนสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว กิจกรรมการลงพื้นที่ชุมชนก็เป็นอีกกระบวนการที่เราใช้ในการให้เยาวชนได้ถอดบทเรียนความเป็นพลเมืองผู้ตื่นตัวจากบทเรียนการทำงานของชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ และครั้งนี้เราจัดแบ่งเยาวชนออกเป็น 3 สาย ลงพื้นที่ 3 ชุมชน โดยผมรับผิดชอบในการพาเยาวชนลงพื้นที่ที่ชุมชนหาดทรายคุณ อ.บุญฑริก จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นชุมชนในเครือข่ายของสมัชชาคนจนกลุ่มที่ต่อสู้ในเรื่องประเด็นปัญหาที่ดินทำกินที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร ชุมชนนี้มีกรณีปัญหาที่คล้ายคลึงกันกับกรณีเขื่อนปากมูน คือได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่า ชาวบ้านปากมูนจะชูประเด็นการต่อสู้ในเรื่องของความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่ส่งผลต่อการวิถีการดำรงชีวิต เพราะคนริมลำน้ำมูนจะมีวิถีชีวิตอยู่กับการจับหาปลาในแม่น้ำที่มีหลากหลายร้อยสายพันธุ์หายาก ส่วนกรณีปัญหาเขื่อนสิรินธรนั้น จะหนักไปในเรื่องของสิทธิที่ดินทำกินและการชดเชยที่ไม่เป็นธรรมจากภาครัฐ ความลับอย่างหนึ่งของเขื่อนแห่งนี้ที่พิเศษ คือเป็นเขื่อนที่ถูกสร้างโดยแฝงนัยยะทางการเมืองในช่วงยุคมืดของประชาธิปไตยท่ามกลางกระแสการตื่นตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในระดับสากล เขื่อนนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาในปี 2511และแล้วเสร็จในปี 2514 เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับฐานทัพอเมริกาในจังหวัดอุบลราชธานี และยังเป็นการทำลายพื้นที่ของขบวนการคอมมิวนิสต์อีกด้วย เพราะเขื่อนนี้ได้ปิดเส้นทางคมนาคมไทย-ลาว และได้ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่าดงดิบผืนใหญ่ ที่ถูกสงสัยว่าเป็นที่ซ่องสุมของพรรคคอมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีเสียงจากชาวบ้านที่เป็นอดีตสหายผู้จับปืนอยู่ในป่าเปรยขึ้นมาว่า "ไอ้เราก็ไม่คิดว่าเขื่อนมันจะสร้างได้ขนาดนี้จริงๆ ขนาดพวกเราแค่จะสร้างฝายเล็กๆยังลำบากเลย ถ้ารู้ว่าเขื่อนมันจะร้ายได้ขนาดนี้ พวกเราคงไปยิงถล่มแคมป์สร้างเขื่อนกันตั้งนานแล้ว" ด้วยความที่สังคมไทยเดิมอยู่ในวิธีคิดแบบไร่ขุนมูลนาย กว่าที่ชาวบ้านจะตระหนักว่าปัญหาที่ตนได้รับจากเขื่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่มันคือสิทธิอันชอบธรรมที่ชาวบ้านจะต้องทวงคืน ชาวบ้านก็ต้องใช้เวลาถึ ง20 กว่าปีให้หลังในการเรียนรู้ ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญหาเขื่อนสิรินธรเกิดขึ้นหลังขบวนการชาวบ้านปากมูนด้วยซ้ำ ทั้งที่เขื่อนสิรินธรเกิดก่อนเขื่อนปากมูนหลายปี แต่อย่างน้อยๆ ทั้งสองขบวนการนี้ ก็ได้เดินหน้าพร้อมๆกันกับมวลมิตรคนจนกลุ่มปัญหาอื่นๆทั่วประเทศ จนนำมาสู่การเกิดขึ้นของสมัชชาคนจนในปี2540 จุดสะดุดใจของผมในการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ แวบแรกที่ได้เห็นพื้นที่ตอนมาสำรวจเส้นทาง ผมได้เห็นชุมชนที่มีเสน่ห์แบบชนบทแท้ๆ หัวหน้าเอก - ประพนธ์ สิงห์แก้ว ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน แกนนำในพื้นที่ที่ให้ความช่วยเหลือผมในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้พาผมไปดู "จุดชมวิว" ของชุมชน ภาพที่ผมเห็นเป็นลานโล่งๆ มีหญ้าขึ้นบนผืนดินเล็กน้อย พร้อมกับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ดูแล้วให้บรรยากาศชวนนึกถึงรีสอร์ตหรือสนามกอล์ฟขนาดใหญ่ แต่ที่นี่มีวัวมีควายมาเดินกินหญ้าอยู่ริมน้ำด้วย แต่เมื่อผมได้รู้ว่า ภาพบรรยากาศที่สวยงามตรงหน้าผม ทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ผมเห็นนั้น แท้จริงมันคือที่ตั้งเดิมของชุมชนที่ชาวบ้านเคยอยู่กันมาท่ามกลางป่าดงดิบ ความรู้สึกที่ประทับใจความสวยงามกลัลกลายเป็นความอนาถจิตขึ้นมาทันที ผมพูดกับเพื่อนที่มาด้วยกันว่า "มันคือความสวยงามที่เห็นแล้วอนาถจิตแท้" แล้วผมก็ยังอุตส่าห์ถามคำถามโง่ๆกับหัวหน้าเอกว่า ทำไมชาวบ้านไม่วิดน้ำในแอ่งเข้าที่นา หรือมาหาจับสัตว์น้ำในนี้ อย่างน้อยก็ให้มันได้เกิดประโยชน์อะไรกับชีวิตในปัจจุบันบ้าง คำตอบที่ผมได้รับคือ "มันผิดกฎหมาย" เพราะบัดนี้ แอ่งน้ำแห่งนี้ รวมถึงทรัพยากรต่างๆที่อยู่ในน้ำ ถือเป็นทรัพย์สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ทั้งหมด... มันจึงกลายเป็นสิ่งที่ค้างคาในใจผมว่า ทั้งที่เราก็รู้กันอยู่ว่าแอ่งน้ำแห่งนี้มันคือกรรมสิทธิ์ดั้งเดิมที่ชาวบ้านเขาอยู่กันมาหลายร้อยปีก่อนที่มันจะกลายเป็นแอ่งน้ำด้วยซ้ำ วันนี้ที่เขาต้องยอมถูกเลือกให้เป็นผู้เสียสละ เพื่อสนองตัณหาการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมสามานย์ที่พวกเรากำลังเสพกันอยู่ แค่ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เท่านี้ ทำไมพวกเขาถึงไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์เพื่อชดเชยสิทธิอันชอบธรรมที่พวกเขาถูกบังคับให้ยอมเสียสละไปแล้ว กรณีคล้ายๆ กันเช่นนี้ยังมีอีกหลายที่หลายแห่ง ที่คนจนมักถูกบีบด้วยวาทกรรมว่า "ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ" ซึ่งแท้จริงแล้วคนจนต่างหากล่ะที่เป็นคนส่วนมากของประเทศและของโลก ที่ต้องถูกบังคับให้เป็นผู้เสียสละไปซะทุกครั้ง เพื่อสำเร็จความใคร่ให้แก่นายทุนและชนชั้นกลางในเมืองผู้หลงระเริงต่อการบริโภคที่ไม่รู้จักพอ มันทำให้เราได้ค้นพบตัวเองว่า หลายครั้งพวกเรานี่แหละคือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยความอยากที่ไม่รู้จักพอ อุปสงค์ที่ไม่มีขีดจำกัดของพวกเรา นำมาสู่อุปทานที่ต้องแลกด้วยสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนจนผู้เป็นประชากรส่วนใหญ่แต่เสียงเล็กในสังคมโลก ความขัดแย้งมากมายระหว่างมนุษยชาติในมุมต่างๆ ของโลก รวมถึงปรากฎการณ์การเมืองแบ่งสีในไทยเรา หากพินิจพิเคราะห์ด้วยสติ เราจะเข้าใจว่าความจริงแล้วมันเริ่มต้นจากปัญหาความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างเช่นนี้แหละ แค่ว่ามวลชนจะเลือกใช้ใครเป็นเครื่องมือหรือเป็นเครื่องมือของใคร น่าสมเพชที่บรรดาผู้ทรงเกือกในคณะกรรมการสมานฉันท์โจร (หรือคณะกรรมการสมานฉันท์ สามัคคีกันกินประเทศไทย) ที่แต่งตั้งโดยประธานรัฐสภา และมีประธานคณะกรรมการนามสกุล "ถึงฝั่ง" กลับมีสติปัญญาเถียงกันได้แค่เรื่องผลประโยชน์ของนักการเมืองชั่วๆ ที่โดนตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี สุดท้ายคนจนก็ยัง "ไม่ถึงฝั่ง" เสียที..... |
--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
www.patani-conference.net
http://www.thaihof.org
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://dbd-52.hi5.com
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น