ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตในลอนดอนของ 'เจ๊หมวย'

ชีวิตในลอนดอนของ 'เจ๊หมวย'

วันอาทิตย์ ที่ 26 กรกฎาคม 2552 เวลา 0:00 น

  

'แสงจันทร์ จันทสกุล' 'เจ้าแม่โชห่วย' สารพัดนึก

“ไม่มีคนไทย ไม่มีนักเรียนไทยคนไหนที่มาอาศัยอยู่ที่อังกฤษ โดยเฉพาะในลอนดอน ไม่รู้จัก  เจ๊หมวย แกเป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน อยากได้อะไร ไม่มีทางที่เจ๊หมวยจัดให้ไม่ได้” ...เป็นคำยืนยันถึงกิตติศัพท์ของ “เจ๊หมวย” หญิงไทยที่ไปทำอาชีพค้าขายอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเจ๊หมวยคนนี้มองผิวเผินก็ดูจะเป็นเพียงแม่ค้าร้านโชห่วย แต่ลึก ๆ แล้วเรื่องราวระหว่างบรรทัดบนสมุดชีวิตของผู้หญิงคนนี้น่าสนใจทีเดียว ลองมาดูชีวิตผู้หญิงไทยแกร่งในต่างแดนที่ชื่อ “เจ๊หมวย-แสงจันทร์ จันทสกุล” คนนี้...

“ถ้าจะถามว่าชีวิตต่างแดนลำบากไหม ตอบไม่ได้หรอก เพราะชีวิตเราลำบากมาตลอด แต่ถ้าถามว่าถึงกับทำให้ทุกข์ร้อนอะไรไหม ตอบได้อย่างเต็มปากว่าไม่ เพราะเราเลือกที่จะมาทางนี้” ...เจ้าของวิถีชีวิตรายนี้บอก ก่อนจะเล่าให้เราฟังว่า มาลงหลักปักฐานที่อังกฤษเมื่อตอนอายุไม่น้อยแล้ว โดยเดินทางมาถึงตอนอายุ 35 ปี จากคำชักชวนของน้องชาย ซึ่งกับจุดเปลี่ยนที่พลิกผันชีวิตนั้น เดิมทีที่บ้านยึดอาชีพขายกวยจั๊บที่ตลาดกล้วยน้ำไท ตอนหลังถูกไล่ที่ จึงหันไปเรียนเสริมสวย ยึดอาชีพทำผม เปิดร้านอยู่ย่านจุฬาฯ และอีกแห่งเปิดไว้แถวย่านสวนหลวง ยึดอาชีพทำผมอยู่ได้สัก 10 ปีก็ถูกเวนคืนที่ จึงรู้สึก เบื่อ พอดีช่วงนั้นน้องชายซึ่งอยู่ที่อังกฤษโทรฯ ชวนให้ไปเที่ยว คิดไม่นานก็ตัดสินใจไป โดยไม่คิดมาก่อนว่าจะลงหลักปักฐานจนถึงปัจจุบัน
   
“ไม่คิดหรอกว่าเราจะมาอยู่นี่ เราเองเรียนจบแค่ ป.7 ความรู้ก็ไม่มี จริง ๆ ช่วงนั้นก็มีคนรู้จักมาชวนให้ไปทำผมที่อเมริกา บอกว่าจะให้หลายหมื่น เรามาคิดว่าอยู่เมืองไทยเงินจำนวนนี้เราก็หาได้ เลยตัดสินใจไม่ไป แล้วก็หอบกระเป๋ามาที่อังกฤษดีกว่า มาเปิดหูเปิดตาบ้าง”
   
เจ๊หมวยบอกว่า  3-4 เดือนแรก ไม่ได้ทำอะไร เพราะถูกน้องชายจับให้เรียนภาษา ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชีวิตเธอมาก เธอบอกว่าต้องไปนั่งเรียนคู่กับคนจบปริญญาตรี แรกที่เรียนก็มักจะตามไม่ค่อยทันคนอื่น ๆ เมื่อกลับมานั่งเล่าให้น้องชายฟัง น้องชายเธอก็บอกว่าไม่ภูมิใจเหรอ จบแค่ ป.7 แต่ได้เรียนคู่กับคนจบปริญญาเลย ตอนนั้นท้อมาก คิดว่าไม่ไหว ต่อมาก็คิดว่าเราคงไม่มีอะไรเสีย ก็เลยฮึดสู้ ซึ่งถึงวันนี้เจ๊หมวยยอมรับว่าไม่ได้เก่งกาจภาษาอะไร ก็แค่ใช้ในการเอาตัวรอด แต่ที่มีวันนี้ได้คงเป็นเพราะความกล้าพูด ซึมซับไปเรื่อย ๆ
   
กับจุดเริ่มต้นธุรกิจในลอนดอน เจ๊หมวยเล่าว่าตอนที่เรียนภาษาอยู่นั้น นึกไปนึกมาว่าจะไม่เอาแล้วอาชีพทำผม แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่อาชีพเก่าอยู่ดี โดยหลังจากอยู่ได้ระยะหนึ่งก็มีคนมาตามให้ไปเดินตัดผมให้ลูกค้าตามบ้าน ทำได้ 2 ปี พอมีเงินเก็บ ก็เลยลงทุนเปิดร้านอาหารไทย จากนั้นอีก 6 เดือนก็เปิดร้านทำผมเพิ่มอีก เปิดร้านทำผมได้ราว 7 ปี ร้านก็ถูกไฟไหม้ ตอนนั้นตกงานไปเต็ม ๆ เกือบ 1 ปี แต่โชคดีที่ทำประกันไว้ ก็ได้เงินคืนกลับมาก้อนหนึ่ง ก็เลยคิดจะทำร้านขึ้นมาใหม่ แต่หันมาเปิด “ร้านโชห่วย” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001
   
ปัจจุบันเจ๊หมวยมีธุรกิจทั้งโชห่วย ซูเปอร์มาร์  เกต ร้านอาหาร รวมถึงร้านตัดผมหลายสาขา อาทิ ร้าน อาร์ตหมวย (Art Muay) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดร้านแรกบนถนนโฮการ์ด กับร้านอาหารไทยกรุงเทพ ถนนบรอมพ์ตัน ย่านเอิร์ลคอร์ท, ตลาดแม่กิมเอ็ง แถว ๆ ย่านเฟรมเลน ฟูแลม รวมถึงร้านตัดผมอีก 2 สาขาในชื่อหมวยแฮร์คัท ถนนบรอมพ์ตัน และถนนเคนเวย์ ในแถบเอิร์ลคอร์ท ซึ่งก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดา กับผู้หญิงที่จบเพียงแค่ชั้น ป.7 และกับร้านต้นกำเนิดอย่างร้านอาร์ทหมวย  เจ๊หมวยบอกว่าใหม่ ๆ คนมักคิดว่าเป็นค่ายมวย จากชื่อที่ใช้
   
นอกจากชื่อจะแปลกแล้ว ความสารพัดของสินค้า อย่างที่เปรียบเปรยกันว่าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ก็เป็นที่โจษจันกันในหมู่คนไทยในลอนดอน ว่าไม่มีอะไรที่หาให้ไม่ได้ ซึ่งเธอบอกว่าคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนจะทำร้าน
   
“ถามว่าทำไมต้องขนาดนี้ เราคิดว่าถ้าคิดจะขายของก็ต้องแบบนี้ ไม่งั้นคุณจะไม่ได้เงินจากใครเลย เราก็คิดว่าถ้าจะเปิดซูเปอร์มาร์เกตมันก็มีเยอะแล้ว ก็คิดว่าถ้าจะเปิดต้องไม่เหมือนใคร ก็เลยนำพวกผักพื้นบ้านเข้ามาขาย ซึ่งร้านอื่นไม่มี ตรงนี้มันเริ่มจากความยากและหาของไทยมาทำกินลำบากของเรา ก็เลยเข้าใจว่าคนไทยที่มาอยู่  นาน ๆ บางทีก็อยากจะกินของไทยบ้าง จากจุดนั้นก็ขยับขยายมาเรื่อย ๆ จนวันนี้ชุดสังฆทาน ผ้าไตร สบง อังสะ มีหมด จนน้องเราตั้งชื่อร้านให้ว่าร้านเจ๊หมวยสารพัดนึก และตอนนี้ก็กำลังจัดทัวร์อยู่ด้วย ที่มาคือสมัยก่อนแม่เรา  มา ไม่มีที่เที่ยว เราต้องจ้างรถแวนเล็ก ๆ วันละ 200- 300 ปอนด์ 2 อาทิตย์พาไปทีหนึ่ง ตอนหลังมีคนฝากคนแก่มาด้วยมากเข้า ก็เลยเอางี้ จัดเป็นทัวร์เลยดีไหม ก็กลายเป็นทำทัวร์เพิ่มอีกหนึ่งอย่าง”
   
ที่ร้านเจ๊หมวยนอกจากจะเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบอาหารไทย สินค้าไทย และบริการอีกร้อยแปดพันเก้าแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งนัดพบ แหล่งหางาน-จ้างงาน-บอกข่าว-ประชาสัมพันธ์ของคนไทยด้วย บางครั้งร้านเจ๊หมวยก็ยังกลายเป็นสภากาแฟที่คนไทยที่ผ่านไปมามักแวะเวียนเข้ามาพูดคุยเสมอ ๆ ซึ่งเจ๊หมวยเล่าว่า เริ่มต้น มาจากบางทีคนที่มาอยู่ใหม่ ๆ คิดอะไรไม่ออก หรือบางทีอยากได้งานก็จะบอกให้จดชื่อไว้ ถ้ามีคนต้องการจะบอกให้
   
“เสน่ห์ของร้านคือ คนไทยมีที่สุมหัวกัน (หัวเราะ) ได้พูดคุยกัน ได้ปะทะกันบ้าง บางทีอยู่กันเป็นเพื่อน แต่ก็มีวันที่เงียบ ๆ เฉพาะวันที่เราไม่อยู่ น้องชายถึง กับสั่งเลยว่าถ้าเราไปไหน ห้ามบอกใครเลย เพราะวันนั้นทั้งวัน ร้านจะเงียบเหงาไปเลย น้องชายบอกเจ๊ไม่อยู่ลูกค้าหายหมด”
   
ตัดกลับมาที่เมืองไทย ยุคที่ร้านโชห่วยชุมชนกำลังเกิดวิกฤติ เจ๊หมวยบอกว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นสิ่งน่าเสียดาย เพราะเสน่ห์ของร้านโชห่วยไทย ร้านค้าปลีกของฝรั่งสู้ไม่ได้ในเรื่องของมิตรภาพ เพราะทุกอย่างเป็นระบบมากไปหมด คนขายก็เป็นแค่พนักงาน ลูกจ้าง แต่กับร้านโชห่วยซื้อขายกันแบบพี่ แบบเพื่อน แม้ของจะมีไม่มากเท่า แต่การได้พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันก็เป็นความสุขที่ตีราคาไม่ได้ ยิ่งต่างบ้านต่างเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึง
   
เราถามทิ้งท้ายว่ายังมีอะไรที่อยากทำอีก ? เจ๊หมวยบอกว่า “ไม่รู้อนาคต แต่ก็คงทำไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นคนไม่ชอบอยู่กับที่ และโชคดีที่เป็นคนโสด ไม่มีครอบครัว ทำให้คิดจะทำอะไร นึกอยากจะไปไหน ก็ทำได้โดยสะดวก ชอบชีวิตแบบนี้ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบใคร ไม่ชอบดูแลคน อยู่แบบนี้เบา ๆ ตัวดี”
   
และทั้งหมดนี้ก็คือบางเศษเสี้ยวของหญิงไทยคนเก่งคนหนึ่งที่ออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน “เจ๊หมวย-แสงจันทร์ จันทสกุล” เจ้าของฉายา “เจ๊สารพัดนึก” ของคนไทยในลอนดอน.

'รับจ้างแก้ผ้า'

ด้วยความที่ร้านเจ๊หมวยเป็นแหล่งรวมคนไทย ทำให้หน้าร้านกลายเป็น “ป้ายประกาศ” ขนาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็มักจะมาขอปิดประกาศเพื่อบอกกล่าวเล่าสู่สิ่งที่ต้องการประชาสัมพันธ์ และด้วยเหตุที่ร้านเจ๊หมวยรับทำสารพัดอย่าง ก็เผอิญมีป้ายประกาศหนึ่งสะดุดพระเนตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนนำมาซึ่งความปลื้มปีติอย่างล้นพ้นของตัวเจ๊หมวยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเจ๊หมวยเล่าว่า...
   
“เป็นป้ายที่เราเขียนว่า รับจ้างแก้ผ้า ก็คือเขียนเป็นคำพูด วันหนึ่งเด็กที่ร้านก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งลงจากรถมา เด็กเขามองแล้วคิดว่าผู้หญิงคนนี้เหมือนเคยเห็นที่ไหน คุ้น ๆ พอผู้หญิงคนนั้นขึ้นรถไปแล้ว เด็กนึกออกก็ตกใจแล้ววิ่งมาบอก ว่านั่นสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งจริง ๆ ท่านเสด็จฯ มารอบหนึ่งแล้วเพื่อทรงถ่ายรูปป้ายนี้ แต่รู้สึกว่ารูปจะไม่ชัด รถสถานทูตจึงวนกลับมาอีกครั้ง และภายหลังพอพระองค์ท่านเสด็จฯ มาลอนดอนอีกครั้ง ทางสถานทูตก็ส่งหนังสือมาบอกว่าพระองค์ท่านทรงอยากเจอเจ้าของป้าย ก็เลยได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน ซึ่งรู้สึกปลื้มปีติมาก เรื่องนี้คุณดำรง (พุฒตาล) ก็เคยนำไปเขียนในหนังสือคู่สร้างคู่สมมาครั้งหนึ่ง คือแกขำ ๆ ว่าเออ...อาชีพรับจ้างแก้ผ้าก็มีนะ อยากรู้ต้องไปขอให้เจ๊หมวยทำให้ดู”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น